พระอาทิตย์เที่ยงคืน ปรากฏการณ์สุดแปลกหูแปลกตาที่ใครหลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ปรากฏการณ์นี้มันคืออะไรกันแน่? วันนี้ Travelzeed จะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบกันค่ะ
พระอาทิตย์เที่ยงคืนคืออะไร?
พระอาทิตย์เที่ยงคืน (Midnight sun) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดในช่วงฤดูร้อน ในพื้นที่ทางเหนือของซีกโลกเหนือ (Arctic Circle) โดยที่เราจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่เช้าไปจนถึงเที่ยงคืน นอกจากจะเรียกว่า Midnight sun ยังมีชื่อเรียกอื่น อย่าง Polar day, White Night, Nightless Night อีกด้วย
พระอาทิตย์เที่ยงคืน เกิดจากอะไร?
ปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืน เกิดจากการที่โลกเอียงไปทางดวงอาทิตย์ทำมุม 23.4 องศา ทำให้แสงของดวงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาที่พื้นที่อาร์กติคเหนือตลอดเวลา
อ่านแบบนี้อาจจะจินตนาการไม่ออก ไปดูคลิปกัน 👇 นอกจากจะเห็นพระอาทิตย์ทั้งวันแล้ว เรายังจะได้เห็นพระอาทิตย์เคลื่อนที่จากทางซ้ายไปทางขวาด้วย!
ปรากฏการณ์ Midnight sun เกิดขึ้นช่วงไหน?
ปรากฎการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนของทางขั้วโลกเหนือ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายพฤษภาคม – ปลายกรกฎาคม โดยแต่ละประเทศจะมีเวลาต่างกันไป
หลักการคือยิ่งอยู่ใกล้ขั้วเหนือเท่าไหร่ เรายิ่งได้เห็น Midnight sun นานขึ้น และถ้าเป็นบริเวณเหนือสุดขั้วโลกก็จะได้เห็นพระอาทิตย์ไปเลยประมาณ 6 เดือน
ครีษมายัน (Summer solstice) วันที่ซีกโลกเหนือมีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี และถือว่าเป็นวันเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของทางซีกโลกเหนือ (22 มิถุนายน)
เราดู ”พระอาทิตย์เที่ยงคืน” จากประเทศไหนได้บ้าง?
แน่นอนว่าประเทศที่มีพระอาทิตย์เที่ยงคืนต้องเป็นแถบขั้วโลกเหนืออยู่แล้ว แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่ว่าทุกที่จะเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืนนะ เราต้องหาจุดที่จะไปดูอีกทีด้วย มาดูกันว่าจุดไหนในแต่ละประเทศน่าเที่ยวกัน
01
นอร์เวย์ (Norway)
นอร์เวย์ เป็นประเทศที่มีชื่อที่สุดในการดูพระอาทิตย์เที่ยงคืน เพราะเราสามารถดูปรากฏการณ์นี้ได้นานเป็นอันดับต้น ๆ ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน (ปลายเมษายน – ปลายสิงหาคม) โดยหาที่ดูได้ในแถบนอร์เวย์เหนือซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 1 ใน 3 ของประเทศ
ถ้าเป็นช่วงนอร์เวย์ตะวันตกจะค่อนข้างมีฝนตกบ่อย แต่ในนอร์เวย์เหนืออากาศจะค่อนข้างคงที่เฉลี่ยประมาณ 12-16°C
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Svalbard
- Bodø and Salten
- Lofoten Islands
- Tromsø
- Hammerfest
- Nordkapp
02
ไอซ์แลนด์ (Iceland)
ที่ ไอซ์แลนด์ จะเริ่มเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนประมาณวันที่ 20 – 22 มิถุนายน ไปจนถึงเดือนกรกฏาคม เป็นเวลา 20 – 22 ชั่วโมงต่อวัน และค่อยลดลงเรือย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
หน้าร้อนของที่นี่จะเต็มไปด้วยความเขียวชะอุ่ม มีดอกไม้บาน ถือว่าเป็นช่วงน่าเที่ยวของที่นี่เลย มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 11°C (ร้อนที่สุดในปี 1939 ประมาณ 30.5°C)
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- อุทยานนานาชาติ Snæfellsnes
- น้ำตก Seljalandsfoss
- ประภาคาร Grótta
- น้ำตก Glymur
- Jokulsarlon Glacier Lagoon
03
กรีนแลนด์ (Greenland)
กรีนแลนด์ เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระอาทิตย์เที่ยงคืนที่นี่จะเห็นได้ประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มประมาณวันที่ 20 ของเดือนเมษายนไปจนถึงต้นกรกฎาคม
โดยปกติ 80% ของพื้นที่จะปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง แต่พอถึงช่วงหน้าร้อนที่จะเขียวชะอุ่มค่อยสมกับชื่อ Greenland แถมมีดอกไม้เบ่งบานตามพื้นหญ้าใครรักธรรมชาติจะต้องตกหลุมรักแน่นอน และถึงจะเรียกว่าหน้าร้อน แต่ร้อนสุดแค่ 24°C เอง สำหรับคนไทยถือว่าสบาย
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Sisimiut
- Tasiilaq
- Qaanaaq
- Nanortalik
- Upernavik
- Uummannaq
04
ฟินแลนด์ (Finland)
ที่ ฟินแลนด์ ถ้าไปทางเหนือจะชมพระอาทิตย์เที่ยงคืนได้นานกว่าทางตอนใต้ แต่ก็แตกต่างกันไม่มาก (เช่นที่เฮลซิงกิ ฟ้าจะมืดประมาณ 2-3 ชั่วโมง) ที่นี่เราจะมีเวลาชมปรากฏการณ์ได้ประมาณ 2 เดือนกว่า (กลางพฤษภาคม – ปลายกรกฎาคม)
เดือน “กรกฎาคม” จะเป็นช่วงที่อบอุ่นที่สุดของฟินแลนด์ ประมาณ 20°C ขึ้นไป อย่าลืมไปซาวน่าด้วยหละ เอกลักษณ์ของบ้านเค้าเลย
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Levi
- Yllas & Pallas-Yllästunturi National Park
- Seurasaari
- Turku archipelago
- Rovaniemi
- Porvoo
- Jyväskylä
05
สวีเดน (Sweden)
ที่ สวีเดน สามารถดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนในช่วงปลายพฤษภาคม – กลางกรกฎาคม ซัมเมอร์ที่นี่มีอุณภูมิสูงกว่า 10°C
ส่วนกิจกรรมก็เหมือนกับประเทศแถบขั้วโลกเหนืออื่น ๆ ที่ผู้คนจะเน้นไปเดินป่าเผื่อชมความสวยงามของธรรมชาติ ดอกไม้ป่าที่บานตามทุ่งหญ้า และมีงานเทศกาลเฉลิมฉลองมากมาย
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Björkliden Arctic Golf Course
- Abisko
- Gällivare
- Kiruna
- อุทยาน Sarek
- อุทยาน Padjelanta
06
รัสเซีย (Russia)
เราสามารถหาชมปรากฏการณ์ได้จาก ทางตอนเหนือของรัสเซีย เริ่มประมาณต้นพฤษภาคม – ต้นเดือนสิงหาคม ส่วนที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์กมีช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ปลายเดือนพฤษภาคมของรัสเซียอากาศจะอุ่นขึ้นกว่าปกติ ประมาณ 15-18°C และยังมีที่เที่ยวเปิดให้เข้าชมเพิ่มขึ้นด้วย
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Arkhangelsk
- Solovetsky
- Murmansk
- Teriberka
- Yakutia
07
อลาสก้า (Alaska)
ที่ อลาสก้า เราจะมีเวลาดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนประมาณ 4 เดือนกว่าเริ่มตั้งแต่พฤษภาคม – ต้นสิงหาคม และยังมีเทศกาล Nome จัดขึ้นอีกด้วย (เฉลิมฉลองพระอาทิตย์เที่ยงคืน)
โดยปกติที่อลาสก้า อุณหภูมิสามารถสูงได้ถึง 27°C ส่วนทางใต้ของอลาสก้าอาจจะมีเมฆและฝนบ้าง โดยเฉลี่ยอุณหภูมิประมาณ 4-15°C
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Utqiaġvik
- Fairbanks
- Anchorage
- Juneau
- Kodiak
08
แคนาดา (Canada)
น้อยคนนักจะรู้ว่า พื้นที่แถบทางเหนือของแคนาดา อย่าง Northwest Territories, Nunavut หรือ Yukon ก็มี Midnight sun เหมือนกัน เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน (ช่วงปลายพฤษภาคม – ต้นกรกฎาคม)
ช่วงหน้าร้อนอากาศประมาณ 21 – 30°C ถือว่าเป็นไฮซีซั่นของที่นี่สำหรับเหล่าผู้ชื่นชอบทำกิจกรรม โดยจะร้อนสุดในช่วงกรกฎาคม
จุดดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แนะนำ
- Aulavik National Park
- Dempster Highway
- Great Bear Lake
- YellowKnife
- Inuvik
รู้หรือไม่ ? Polar day มีขั้วตรงข้ามคือ Polar night ด้วยนะ
ขั้วตรงข้ามกับ Polar Day คือ Polar Night ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 21 ธันวาคม (กลางธันวาคม – กลางมีนาคม) ช่วงที่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นเป็นเวลา 24 ชั่วโมงติดต่อกัน แต่ก็ยังมีแสงอาทิตย์ให้เห็นเล็กน้อย เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของแถบซีกโลกเหนือเช่นกัน