ลองจินตนาการว่าคุณกำลังท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น กำลังชื่นชมธรรมชาติบนเกาะฮอกไกโด อยู่ๆ แผ่นดินก็เริ่มสั่นไหว อาคารโยก ผู้คนเริ่มวิ่งหนีตาย นี่คือสถานการณ์จริงที่นักท่องเที่ยวหลายคนเคยพบเจอเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่น ไม่ใช่เพียงแค่ญี่ปุ่น แต่ภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วโลก ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด หิมะถล่ม ไปจนถึงโรคระบาด
การท่องเที่ยวคือการเปิดโลกกว้างที่เต็มไปด้วยความสุขและประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การเตรียมตัวและรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนรอบข้าง สำหรับบทความนี้ Travelzeed จะให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติ เมื่อต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติขณะท่องเที่ยว เพื่อให้คุณเดินทางอย่างมั่นใจ ปลอดภัย และสนุกสนานอย่างรอบครอบกันค่ะ
ประเภทของภัยธรรมชาติที่มักพบบ่อยในแหล่งท่องเที่ยว
1. แผ่นดินไหวและสึนามิ
แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสึนามิ โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์
วิธีสังเกตและรับมือ
รู้จักสัญญาณเตือน เช่น แผ่นดินสั่นสะเทือน มีเสียงดังกึกก้อง
- รีบหาที่หลบภัยใต้โต๊ะ หรือออกจากอาคารอย่างระมัดระวัง และเร็วที่สุด
- หากอยู่ใกล้ชายฝั่ง ให้รีบอพยพไปที่สูงในทันที เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหลังเกิดเหตุ
2. พายุและน้ำท่วม
พายุหมุนเขตร้อน เช่น ไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน และไซโคลน มักก่อให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม และลมแรง โดยเฉพาะในแถบทะเลแคริบเบียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกใต้
วิธีป้องกัน
- ตรวจสอบพยากรณ์อากาศจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้
- หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีการแจ้งเตือนพายุ
- เลือกที่พักที่ไม่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือเสี่ยงน้ำท่วม
3. ภูเขาไฟระเบิด
ภูเขาไฟระเบิดเป็นภัยที่รุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มักเกิดในประเทศที่ตั้งอยู่ในวงแหวนแห่งไฟ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์
การเตรียมตัว
- ตรวจสอบสถานะภูเขาไฟกับทางการก่อนเดินทาง
- ศึกษาเส้นทางอพยพและจุดรวมพลกรณีฉุกเฉิน
- เตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองเถ้าภูเขาไฟ และอุปกรณ์กันฝุ่น
4. ภัยแล้งและไฟป่า
ในช่วงฤดูร้อนหรือภัยแล้ง ไฟป่าสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีป่าไม้หนาแน่น เช่น ออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย และยุโรปตอนใต้
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมก่อไฟในพื้นที่เสี่ยง
- สวมหน้ากากกรองฝุ่นเมื่อเดินทางในพื้นที่ที่เกิดไฟป่า
- ระวังสุขภาพจากปัญหาฝุ่นควันและคุณภาพอากาศที่แย่
5. โรคระบาด
โรคระบาดมักเกิดร่วมกับภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมอาจทำให้เกิดโรคฉี่หนู หรือภัยแล้งนำไปสู่การแพร่ของโรคจากแมลง เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย
แนวทางการป้องกัน
- พกเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และยารักษาโรคประจำตัว
- หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด
- ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ก่อนเดินทางจาก WHO หรือกรมควบคุมโรค
6. พายุทะเลทราย
พายุทะเลทรายหรือพายุฝุ่น เป็นปรากฏการณ์ที่ลมแรงพัดพาฝุ่นทรายจำนวนมากลอยขึ้นมาบดบังทัศนวิสัย และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
วิธีการป้องกัน
- สวมหน้ากากและแว่นกันลมเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตาและจมูก
- หาที่หลบภัยภายในอาคารที่ปิดมิดชิด
- ตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าและหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่มีการแจ้งเตือน
พื้นที่เสี่ยง : ประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน และประเทศในแอฟริกาเหนือ เช่น อียิปต์ โมร็อกโก
7. หิมะถล่ม
หิมะถล่มเกิดจากมวลหิมะขนาดใหญ่ที่แตกออกและไหลลงมาตามภูเขาอย่างรวดเร็ว อันตรายถึงชีวิตหากติดอยู่ภายใต้หิมะ
แนวทางการประเมินและรับมือ
- ตรวจสอบระดับความเสี่ยงจากหิมะถล่มในแต่ละพื้นที่ (Avalanche Risk Scale)
- หลีกเลี่ยงการเล่นสกีหรือเดินป่าในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่มีไกด์
- พกอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น เครื่องส่งสัญญาณหาในหิมะ (avalanche beacon), พลั่ว, และ probe
พื้นที่เสี่ยง : แหล่งเล่นสกีและเดินป่าในเทือกเขาแอลป์ (สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส) และเทือกเขาหิมาลัย (เนปาล อินเดีย)
การเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง
1. ศึกษาข้อมูลพื้นที่
ก่อนเดินทางควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลายทาง
- สภาพภูมิอากาศของสถานที่นั้นๆ
- ประวัติภัยธรรมชาติในอดีต
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาลหรือสถานทูต
2. เตรียมอุปกรณ์จำเป็น
- ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ไฟฉายสำรองและถ่าน
- อาหารแห้งและน้ำดื่ม
- ยาสำหรับโรคประจำตัว
- หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือ
3. ทำประกันภัยการเดินทาง
เลือกประกันภัยที่คุ้มครองกรณีภัยธรรมชาติ เช่น
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและการอพยพ
- ค่าชดเชยกรณีเที่ยวบินยกเลิกหรือเลื่อน
4. ลงทะเบียนกับสถานทูต
หากเดินทางไปต่างประเทศ ควรลงทะเบียนกับสถานทูตไทยในประเทศปลายทาง:
- รับข่าวสารฉุกเฉิน
- รับความช่วยเหลือได้รวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์
แนวทางการปฏิบัติตัว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ
– ติดตามข่าวสาร
- ใช้แหล่งข่าวจากรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN, Red Cross
- ติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย เช่น Earthquake Alert, MyRadar, Disaster Alert
– ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
- เชื่อฟังคำแนะนำ ไม่ฝ่าฝืนคำสั่งอพยพ
- ช่วยเหลือผู้อื่น หากสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
– ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก
- หายใจลึกๆ เพื่อควบคุมอารมณ์
- ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ไม่ตกใจจนทำให้ตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย
– ใช้เทคโนโลยี เพื่อความปลอดภัย
- แชร์พิกัดของตนกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท
- ใช้โหมด SOS หรือการแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน