เมื่อคุณไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น สถานที่ที่ต้องเจอแน่ ๆ คือ ศาลเจ้า และ วัด ซึ่งทั้งสองแห่งเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และประวัติศาสตร์มากมาย แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า ศาลเจ้า และวัดในญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันยังไง วันนี้ Travelzeed จะพาคุณมาทำความรู้จักความแตกต่างของศาลเจ้า และวัดในญี่ปุ่น รับรองว่า ถ้าไปญี่ปุ่นครั้งหน้าแยก ศาลเจ้า และวัดออกแน่ ๆ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!!!
ทำความรู้จัก ศาลเจ้า (Shrine) ในญี่ปุ่น
ศาลเจ้า (Shrine) เป็นเหมือนบ้านของเทพเจ้าในศาสนาชินโต เวลาเราเดินเข้าไป มักจะเจอ โทริอิ (Torii) หรือประตูสีแดงใหญ่ ๆ หมือนเป็นเครื่องหมายบอกว่า “ที่นี่คือเขตศักดิ์สิทธิ์” และ ชิเมนาวะ (Shimenawa) ซึ่งเป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ที่มักล้อมรอบต้นไม้หรือพื้นที่พิเศษ บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความสงบ มีต้นไม้ใหญ่ และทางเดินที่นำไปสู่ศาลาเล็ก ๆ หรืออาคารหลักบางแห่งมีกระดิ่งให้สั่น เพื่อเรียกเทพเจ้า และกล่องรับบริจาคให้โยนเหรียญก่อนอธิษฐาน ชาวญี่ปุ่นมักใช้ศาลเจ้าในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน มักจะลงท้ายด้วยคำว่า จิงกู (Jingu), จิงจะ (Jinja) หรือ ไทฉะ (Taisha)
ศาลเจ้าที่โด่งดังในญี่ปุ่น
-
ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ (Fushimi Inari Taisha)
ตั้งอยู่ที่เมืองเกียวโต โดดเด่นด้วยเสาโทริอิสีแดงนับพันต้นที่เรียงรายเป็นอุโมงค์ยาวตลอดเส้นทาง บรรยากาศเงียบสงบและสวยงาม เหมาะสำหรับการเดินเล่นและอธิษฐานขอพรเรื่องความสำเร็จและการค้า -
ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu)
ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว ใกล้กับย่านฮาราจูกุ เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่จักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็ง มีบรรยากาศร่มรื่นเพราะรายล้อมด้วยป่าขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวนิยมมาขอพรด้านความสงบสุขและความรัก -
ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ (Itsukushima Shrine)
ตั้งอยู่บนเกาะมิยาจิมะ จังหวัดฮิโรชิมะ มีเสาโทริอิขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเลซึ่งเป็นจุดชมวิวที่มีชื่อเสียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เหมาะสำหรับการขอพรด้านการเดินทางและสุขภาพ -
ศาลเจ้าโทโชกุ (Nikko Toshogu)
ตั้งอยู่ในเมืองนิกโก จังหวัดโทชิกิ ศาลเจ้านี้เป็นที่ประดิษฐานของโทกุกาวะ อิเอยาสุ ผู้ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนโทกุกาวะ ตัวอาคารตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยงานแกะสลักที่ละเอียดลออ เช่น รูปลิงสามตัวที่มีความหมายลึกซึ้ง -
ศาลเจ้าเทนมังงู (Kitano Tenmangu Shrine)
ตั้งอยู่ที่เกียวโต สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่สุงาวาระ โนะ มิจิซาเนะ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นเทพแห่งการศึกษา นักเรียนและนักศึกษาในญี่ปุ่นนิยมมาขอพรเรื่องการสอบและการเรียน
ทำความรู้จัก วัด (Temple) ในญี่ปุ่น
วัด (Temple) เป็นสถานที่ของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรม มักมีสิ่งก่อสร้างสำคัญอย่าง ซัมมง (Sanmon) หรือซุ้มประตูขนาดใหญ่ และมีรูปปั้นทวารบาล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ช่วยแยกแยะจากศาลเจ้า คอยปกป้องอยู่ บางวัดมี เจดีย์ และสุสาน เพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ และ สวนหินแบบเซน ที่สงบเหมาะสำหรับการทำสมาธิ ชื่อมักจะลงท้ายด้วยคำว่า จิ (Ji)
วัดที่โด่งดังในญี่ปุ่น
-
วัดคินคะคุจิ (Kinkaku-ji)
หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดทอง” ตั้งอยู่ที่เกียวโต เป็นวัดที่โดดเด่นด้วยอาคารหลักที่ปกคลุมด้วยทองคำเปลวสะท้อนกับผิวน้ำในสระโดยรอบ สร้างขึ้นในยุคมุโรมาจิและเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและสงบสุข -
วัดเซ็นโซจิ (Senso-ji)
ตั้งอยู่ที่ย่านอาซากุสะในโตเกียว เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในโตเกียว โดดเด่นด้วยโคมไฟแดงยักษ์ที่ประตูทางเข้าคามินาริมง นักท่องเที่ยวนิยมมาขอพรด้านโชคลาภและสุขภาพ -
วัดโทไดจิ (Todai-ji)
ตั้งอยู่ในเมืองนารา เป็นที่ประดิษฐานของพระไดบุทสึ (พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่) ตัวอาคารหลักของวัดถือเป็นหนึ่งในอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก -
วัดเรียวอันจิ (Ryoan-ji)
ตั้งอยู่ที่เกียวโต มีชื่อเสียงจากสวนหินแบบเซนที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายและเงียบสงบ สวนนี้ถูกใช้สำหรับการทำสมาธิและเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบ -
วัดโคโตคุอิน (Kotoku-in)
ตั้งอยู่ที่เมืองคามาคุระ เป็นที่ตั้งของพระไดบุทสึแห่งคามาคุระ (Great Buddha of Kamakura) พระพุทธรูปสำริดกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 11 เมตรและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่น -
วัดคิโยมิซุเดระ (Kiyomizu-dera)
หรือ “วัดน้ำใส” ตั้งอยู่ที่เกียวโต บนเนินเขาฮิกาชิยามะ ตัวอาคารหลักของวัดสร้างจากไม้โดยไม่ใช้ตะปู และมีระเบียงชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของเมืองเกียวโตได้อย่างชัดเจน
💡💡 แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ บางวัดมีเสาโทริอิด้วย เพราะในพื้นที่วัดอาจมี ศาลเจ้า ตั้งอยู่เพื่อสักการะเทพเจ้าเฉพาะด้าน เช่น การเกษตร หรือสุขภาพ นอกจากนี้ บางศาลเจ้า เองก็มี ซัมมง เช่นกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างชินโตและพุทธศาสนา 💡💡
วิธีการขอพรของศาลเจ้า และวัดในญี่ปุ่น
ศาลเจ้า (Shrine) วิธีการขอพรจะมีขั้นตอนที่เป็นเอกลักษณ์ตามศาสนาชินโต ซึ่งแสดงความเคารพต่อเทพเจ้า (Kami) เน้นความสดใสและเรียบง่าย มักมีเสียงปรบมือและกระดิ่ง มีขั้นตอน ดังนี้
- เดินผ่าน เสาโทริอิ พร้อมโค้งคำนับก่อนเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
- ล้างมือและปากที่ บ่อน้ำชำระล้าง (Temizuya) เพื่อชำระจิตใจและร่างกายให้บริสุทธิ์
- ไปยังแท่นบูชา (Haiden) โยนเหรียญลงในกล่องรับบริจาค (Saisen-bako)
- สั่นกระดิ่งเพื่อเรียกเทพเจ้า
- โค้งคำนับ สองครั้ง ปรบมือ สองครั้ง อธิษฐานในใจ แล้วปิดท้ายด้วยการโค้งคำนับ หนึ่งครั้ง
วัด (Temple) วิธีขอพรจะมีความเรียบง่าย เน้นความสงบ และเคร่งขรึม มีการจุดธูปและสวดมนต์ มีขั้นตอน ดังนี้
- จุดธูปที่แท่นบูชาหน้าวัด แล้วปักในกระถางธูป ควันธูปถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดเข้าหาตัวเพื่อเสริมสิริมงคล
- โยนเหรียญลงในกล่องรับบริจาคเพื่อแสดงความศรัทธา
- พนมมือและสวดมนต์ในใจ (อาจเป็นบทสวดของพุทธศาสนา)
- โค้งคำนับเบา ๆ เพื่อแสดงความเคารพ
ความแตกต่างของศาลเจ้า และวัดในญี่ปุ่น
ข้อแตกต่าง | ศาลเจ้า | วัด |
การใช้งานในชีวิตประจำวัน | มักใช้ในพิธีมงคล (แต่งงาน, บรรลุนิติภาวะ) | มักใช้ในพิธีศพ และปฏิบัติธรรม |
คำลงท้ายชื่อ | จิงกู (Jingu), จิงจะ (Jinja), ไทฉะ (Taisha) | จิ (Ji) |
ลักษณะเฉพาะ และโครงสร้าง | โทริอิ (Torii), กระดิ่ง | ซัมมง (Sanmon), กระถางธูป, เจดีย์, พระพุทธรูป |
การชำระล้าง | ล้างมือและปากที่บ่อน้ำชำระล้าง (Temizuya) | ไม่มีขั้นตอนชำระล้าง |
การขอพร | โค้ง 2 ครั้ง ปรบมือ 2 ครั้ง อธิษฐาน โค้งอีก 1 ครั้ง | จุดธูป สวดมนต์ และโค้งคำนับ |